“Easy E-Receipt 2.0” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท (16 ม.ค. – 28 ก.พ. 68)

News Personal Tax

ครม.อนุมัติ ให้เดินหน้าต่อมาตรการภาษี “Easy E-Receipt 2.0” กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก้าวสู่ยุคดิจิทัล สามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) จากการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยต้องรับเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทำรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น 

🔸จำนวนลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ (สินค้าและบริการทั่วไป) รวมถึงค่าซื้อสินค้า OTOP ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทแรก

#จากผู้ประกอบการที่จด VAT +ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบ e-Tax Invoice

#จากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จด VAT +ใบรับเสร็จเงินในรูปแบบ e-Receipt

2) สำหรับจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการส่วนที่สอง ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท ในการซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)

หมายเหตุ: e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ทั้งนี้หาก e-Tax Invoice มีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด ก็สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้

🔹เงื่อนไข

✅ ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

✅ กรณีไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้

  1. ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  2. ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E- book)
  3. ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  4. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าวิสาหกิจชุมชนนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  5. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อ สวส.

⚠️ ระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

🚫 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ใช้ไม่ได้

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  • ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยให้แก่ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)
  • ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบการสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

Tagged